ฐานภาษี

2 ฐานภาษีนิติบุคคล อัตราภาษีธรรมดาคืออะไร?

Click to rate this post!
[Total: 197 Average: 5]

ฐานภาษี

ความหมายของคำว่าฐานภาษี

ความหมายของคำว่าฐานภาษี (Tax Base) การศึกษาเกี่ยวกับการบัญชีภาษีเงินได้เป็นประเด็นในส่วนที่จะอธิบายโดยพอสังเขป ภาษีเงินได้ที่รับรู้เป็นค่าใช้จ่ายก็คือ จำนวนภาษีเงินได้ที่คำนวณจากกำไรทางบัญชี ส่วนการรับรู้ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี อาจรับรู้เป็นสินทรัพย์หรือหนี้สินขึ้นอยู่กับเหตุผลที่ว่า กิจการมีสิทธิที่จะได้รับภาษีเงินได้หรือภาระที่จะจ่ายภาษีเงินได้ ถ้ากิจการจ่ายภาษีเงินได้ในงวดปัจจุบันมากไปและจะได้รับคืนหรือได้รับประโยชน์ในอนาคตก็ถือว่ามีสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีเกิดขึ้น แต่ถ้ากิจการจ่ายภาษีเงินได้ในงวดปัจจุบันน้อยไป โดยมีภาระหรือพันธะที่จะต้องจ่ายอีกในอนาคต ก็ถือว่ามีหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีเกิดขึ้นซึ่งจำนวนสินทรัพย์หรือหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีคำนวณได้จากผลแตกต่างชั่วคราวคูนด้วยอัตราภาษี ซึ่ง ผลแตกต่างชั่วคราวหมายถึงผลแตกต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับฐานภาษีของสินทรัพย์หรือหนี้สินในงบดุล ผลแตกต่างชั่วคราวอาจเป็นผลแตกต่างที่ต้องเสียภาษีหรือผลต่างที่ใช้หักภาษีก็ได้ ดังนั้นในการศึกษาเกี่ยวกับบันทึกบัญชีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ จึงต้องเข้าใจฐานภาษี เพื่อที่จะคำนวณผลต่างชั่วคราวต่อไปฐานภาษี

ฐานภาษี

ฐานภาษี (Tax Base) หมายถึง จำนวนที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้คำนวณภาษีเงินได้ ทั้งนี้กิจการต้องเปรียบเทียบฐานภาษีกับราคาตามบัญชีของสินทรัพย์หรือหนี้สิน เมื่อเกิดผลแตกต่างขึ้นจะส่งผลให้ภาษีเงินได้ที่คำนวณตามหลักการบัญชีมีความแตกต่างจากที่คำนวณตามเกณฑ์ภาษีอากร ซึ่งกิจการจะต้องบันทึกบัญชีที่เกี่ยวข้องต่อไป

ฐานภาษีแบ่งได้เป็นฐานภาษีของสินทรัพย์กับฐานภาษีของหนี้สิน

  1. ฐานภาษีของสินทรัพย์ หมายถึงจำนวนสินทรัพย์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้คำนวณภาษีเงินได้ ซึ่งก็คือจำนวนทางภาษี ที่สามารถนำมาหักจากประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่กิจการจะได้รับคืนราคาตามบัญชีของสินทรัพย์หรืออาจกล่าวได้ว่าฐานภาษีของสินทรัพย์ก็คือต้นทุนที่เหลืออยู่ที่สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีในงวดอนาคต
  2. ฐานภาษีของหนี้สิน หมายถึงราคาตามบัญชีของหนี้สินหักด้วยจำนวนที่สามารถนำไปหักเพื่อคำนวณภาษีซึ่งเกี่ยวข้องกับหนี้สินนั้นในงวดอนาคต ในกรณีของรายได้รับล่วงหน้า ฐานภาษีของหนี้สินที่เกิดขึ้นก็คือราคาตามบัญชีของรายได้รับล่วงหน้านั้นหักด้วยรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีในงวดอนาคต

ฐานภาษีผลแตกต่างชั่วคราว

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผลแตกต่างชั่วคราว (Temporary Differences) หมายถึงผลต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับฐานภาษีของสินทรัพย์หรือหนี้สินในงบดุล ถ้าราคาตามบัญชีเท่ากับฐานภาษีก็จะไม่มีผลต่างชั่วคราวเกิดขึ้น หากราคาตามบัญชีแตกต่างจากฐานภาษีของสินทรัพย์หรือหนี้สิน จึงเกิดผลแตกต่างชั่วคราว ซึ่งอาจเป็นผลต่างชั่วคราวที่ต้องเสียภาษี หรือผลต่างชั่วคราวที่ใช้หักภาษี ซึ่งรายละเอียดจะมีดังนี้

  1. ผลแตกต่างชั่วคราวที่ต้องเสียภาษี (Taxable Temporary Differences) ผลแตกต่างนี้ทำให้ภาษีที่ได้จ่ายจริงในงวดปัจจุบันน้อยกว่าภาษีเงินได้ที่ควรจะเสียตามหลักการบัญชี แต่เป็นผลแตกต่างชั่วคราวที่ทำให้เกิดจำนวนที่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณกำไรหรือขาดทุนทางภาษีในงวดอนาคต กิจการจึงต้องรับรู้หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีสำหรับผลแตกต่างชั่วคราวทุกรายที่ต้องเสียภาษี ดังนั้นหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีก็คือจำนวนภาษีเงินได้ที่จะต้องจ่ายในงวดอนาคตซึ่งเกิดจากผลแตกต่างชั่วคราวที่ต้องเสียภาษี
  2. ผลแตกต่างชั่วคราวที่ใช้หักภาษี (Deductible Temporary Differences) เป็นผลที่ทำให้กำไรที่นำมาคำนวณภาษีในงวดปัจจุบันมากไป ทำให้เสียภาษีในงวดปัจจุบันมากไป แต่ซึ่งผลแตกต่างชั่วคราวนี้ทำให้เกิดจำนวนที่สามารถนำมาหักเพื่อคำนวณกำไรหรือขาดทุนทางภาษีในงวดอนาคต ทั้งนี้กิจการต้องรับรู้สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีสำหรับผลแตกต่างชั่วคราวที่ใช้หักภาษีทุกรายการที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่า กิจการจะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะนำผลแตกต่างชั่วคราวมาหักภาษี ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อกิจการ แต่ถ้ากิจการไม่มีกำไรเพียงพอที่จะนำผลต่างมาหัก ก็ไม่ควรรับรู้เป็นสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีก็คือ จำนวนภาษีเงินได้ที่จะได้รับคืนในงวดอนาคตซึ่งเกิดจาก
  • ผลแตกต่างชั่วคราวที่ใช้หักภาษี
  • ขาดทุนทางภาษีที่ยังไม่ได้ใช้ยกไป
  • เครดิตทางภาษีที่ยังไม่ได้ใช้ยกไป

การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับภาษีเงินได้

การบันทึกบัญชีภาษี

  1. บันทึกค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้สำหรับงวด มีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่คำนวณจากกำไรทางภาษีงวดปัจจุบันและ ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่คำนวณจากรายการรอการตัดบัญชี ซึ่งผลรวมของค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จะเท่ากับอัตราภาษีเงินได้คูณกำไรทางบัญชี
  2. บันทึกหนี้สินและสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ซึ่งผลต่างที่เกิดขึ้นจะถือเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายได้ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีซึ่งก็ถือเป็นสินทรัพย์หรือหนี้สินภาษีเงินได้

นอกจากการบันทึกบัญชีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ รายได้ภาษี สินทรัพย์ภาษีเงินได้ หนี้สินภาษีเงินได้และภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีแล้ว มาตรฐานการบัญชียังกำหนดให้กิจการพิจารณารายการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ในทุกงวดที่มีการเสนอรายงาน และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีเงินได้ การบันทึกบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องต้องเป็นไปตามที่มาตรฐานการบัญชีกำหนด

อ่านบทความทั้งหมด >>> pangpond.com