ปิดกิจการ

10 เลิกบริษัท ปิดบริษัทงบเลิกชำระบัญชีรู้ก่อนได้เปรียบ?

Click to rate this post!
[Total: 178 Average: 5]

จดทะเบียนเลิกบริษัท

ปิดบริษัท

คู่มือการปิดบริษัทอย่างละเอียด เพื่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่โดยเฉพาะ

           ปิดบริษัท ภพ09 เมื่อเริ่มต้นทำธุรกิจแน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไป ธุรกิจอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุสุดวิสัยอะไร ที่ส่งผลให้ต้องปิดกิจการลง การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการปิดบริษัทเป็นเรื่องที่ควรจะต้องรู้ไว้ ไม่ว่าจะธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะแน่นอนว่าเมื่อเราต้องเจอกับสภาวการณ์ที่เริ่มมีสัญญาณไม่ดี บริษัทไม่ควรที่จะต้องปล่อยให้ถึงวันที่พังพินาศย่อยยับไม่เป็นท่า หรือเรียกว่าเจ๊งอย่างสมบูรณ์ ซึ่งก็เปรียบเสมือนได้กับการซื้อหุ้นนั่นแหละ มันเรารู้ว่าสัญญาณมันดิ่งแล้ว การถอนตัวก่อนก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการรับมือกับความเลวร้ายนั่นเอง อย่างไรก็ตามการปิดบริษัทควรจะต้องทำอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งก็จะได้อธิบายไว้ทีละขั้นอย่างละเอียด ดังต่อไปนี้

เช็ค 10 สัญญาณเตือนว่าธุรกิจเข้าขั้นวิกฤต

            ก่อนจะตัดสินใจปิดกิจการ แน่นอนว่าเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการทั้งหลายก็ต้องพบเจอกับวิกฤต ที่ทำให้ต้องมาปรึกษาหารือในที่ประชุมแล้วว่า เราอาจจะต้องปิดบริษัทหรือปิดกิจการลงนั้นเอง แต่สัญญาณอะไรล่ะที่เป็นตัวบ่งชี้ปัญหาเหล่านั้นว่า แบบนี้แหละชัดเลย เราจึงได้รวบรวมสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ที่อาจจะส่งผลทำให้บริษัทปิดตัวลง ซึ่งแบ่งได้เป็น 10 อย่าง ดังต่อไปนี้

  1. พบว่ายอดขายตกลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องแน่ใจว่าตกลงอย่างไม่ปกติ ติดลบลงเรื่อย ๆ เป็นไตรมาส อย่างต่อเนื่อง
  2. คู่แข่งเพิ่ม ทำให้ถูกช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดลดลง ธุรกิจอยู่ยากมากขึ้น
  3. ลูกค้าเก่าไม่มี ลูกค้าใหม่ไม่มา หากธุรกิจมีข้อมูลฐานลูกค้าก็ควรเช็คว่าสาเหตุส่วนใหญ่หายไปเพราะอะไร เผื่อพอจะแก้ไขได้
  4. สินค้าถูกเคลมอยู่บ่อย ๆ และไม่ถูกแก้ไข ขาดคุณภาพ การรับผิดชอบเป็นแนวทางหนึ่งที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กลับมาได้
  5. ขาดกำลังการผลิต เทคโนโลยีการผลิตด้อยสู่คู่แข่งในตลาดไม่ได้
  6. สินค้าค้างสต๊อกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระบายออกไม่ได้
  7. เกิดการทุจริต คอรัปชั่นในองค์กร
  8. ความสัมพันธ์ภายในองค์กรเป็นเชิงลบ คนลาออกมากขึ้น ไม่อยากทำงานให้บริษัท
  9. บริษัทไม่มีสภาพคล่องทางการเงิน
  10. หนี้สินพอกพูนอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุการเลิกกิจการ ปิดบริษัท

สาเหตุการเลิกกิจการ

การเลิกกิจการอย่างแท้จริงสามารถเป็นไปได้กรณี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ตกลงเลิกทำกิจการ ในนามบริษัทก็เลยมาจดทะเบียนเลิกบริษัทกัน ทั้งนี้บริษัทต้องแยกประเภทให้ออกว่าเกิดจากสาเหตุอะไรเป็นหลัก ดังต่อไปนี้

  1. การเลิกกิจการหรือปิดบริษัทเพราะโดยความประสงค์ของผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ลงมติในที่ประชุมกันแล้วว่าต้องการเลิกกิจการหรือปิดบริษัท และถ้ามีเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ สามารถตกลงกันเรื่องการชำระหนี้ได้และยินยอมเลิกกิจการได้ โดยจะต้องเลิกและชำระบัญชีบริษัทจำกัดในกรณีที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษให้เลิกบริษัท โดยดำเนินการจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น เพื่อลงมติพิเศษให้เลิกบริษัทด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่เข้าประชุม

  1. การเลิกกิจการหรือปิดบริษัทเพราะเลิกโดยผลของกฎหมาย

กล่าวคือบริษัทจะต้องถูกยกเลิกกิจการไม่ว่าจะเห็นชอบในที่ประชุมหรือไม่ก็ตามเนื่องจากกฎหมายบังคับปิดกิจการ โดยจะมีเหตุผลจากกฎหมายว่าด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. กรณีข้อบังคับกำหนดเหตุเลิกไว้และเมื่อมีเหตุนั้นเกิดขึ้น
  2. ตั้งบริษัทโดยกำหนดระยะเวลาไว้และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลานั้น
  3. ตั้งบริษัทเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด และเมื่อทำกิจการนั้นเสร็จแล้ว
  4. บริษัทล้มละลาย
  5. นายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน (ถอนทะเบียนร้าง)
  6. การเลิกกิจการหรือปิดบริษัทเพราะเลิกโดยคำสั่งศาล

บางกิจการหรือบริษัทจำกัดจะต้องถูกปิดบริษัทลงโดยจะถูกยินยอมจากมติที่ประชุมบริษัทหรือไม่ก็ตาม ซึ่งก็จะมีความคล้ายกันกับการปิดตัวลงด้วยเหตุทางกฎหมาย เพราะเหตุที่ศาลจะสั่งเลิกบริษัทจะมีผลบังคับทางกฎหมาย ซึ่งเหตุผลเลิกกิจการด้วยคำสั่งศาลจะมีดังต่อไปนี้

  1. ทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
  2. บริษัทไม่เริ่มประกอบการภายใน 1 ปี นับแต่จดทะเบียน หรือหยุดทำการถึง 1 ปี
  3. การค้ามีแต่ขาดทุนและไม่มีหวังฟื้นกลับคืน
  4. จำนวนผู้ถือหุ้นเหลือไม่ถึง 3 คน

เริ่มต้น..เลิกกิจการหรือปิดบริษัทต้องทำอย่างไรดี

            ในส่วนขั้นตอนการเริ่มต้นจะค่อนข้างวุ่นวายเกี่ยวข้องกับเรื่องของขั้นตอนตามกฎหมายสักเล็กน้อย โดยเมื่อมีการตกลงกันแล้วว่าจะมีการเลิกกิจการ หรือปิดบริษัทลง จะต้องมีขั้นตอนตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้

  1. จัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น 2 ครั้ง เพื่อลงมติพิเศษให้เลิกบริษัท
  • การประชุมครั้งแรก
    • มีวาระพิจารณาเรื่องเลิกบริษัท
    • ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะต้องลงมติให้เลิกบริษัทด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4
  • การประชุมครั้งที่สอง
    • มีวาระพิจารณา 3 วาระ คือ ยืนยันมติให้เลิกบริษัทของที่ประชุมครั้งแรก และแต่งตั้ง ผู้สอบบัญชี และกำหนดค่าตอบแทน
    • ที่ประชุมจะต้องลงมติยืนยันให้เลิกบริษัทด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ในส่วนมติแต่งตั้งผู้สอบบัญชีรวมทั้งกำหนดค่าตอบแทนใช้มติธรรมดาโดยเสียงข้างมาก
    • การประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่สองจะต้องห่างจากการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งแรกไม่น้อยกว่า 14 วัน และไม่เกินกว่า 6 สัปดาห์
  1. ผู้ชำระบัญชีต้องลงประกาศเลิกบริษัทในหนังสือพิมพ์ท้องที่ 2 วัน
  2. จัดทำงบดุล ณ วันเลิกบริษัทและส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบโดยเร็วที่สุด
  3. เมื่อผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบงบดุลแล้วเห็นว่าถูกต้อง ให้ผู้ชำระบัญชีเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติงบดุล และพิจารณาว่าจะให้กรรมการบริษัทเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไปหรือจะแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้นใหม่
  4. ผู้ชำระบัญชีต้องดำเนินการชำระบัญชีโดยรวบรวมทรัพย์สิน เรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างอยู่ ขายทรัพย์สิน เรียกลูกหนี้ให้ชำระหนี้ ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายที่กรรมการบริษัทได้ออกไปในการดำเนินกิจการค้าแทนบริษัท หากมีทรัพย์สินเหลือให้คืนทุนผู้ถือหุ้น

(กรณีการชำระบัญชีปรากฏว่าทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้สิน ให้ผู้ชำระบัญชีร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้บริษัทจำกัดล้มละลาย)

  1. ในกรณีที่ชำระบัญชีไม่แล้วเสร็จ ผู้ชำระบัญชีต้องจัดทำรายงานการชำระบัญชี (แบบ ลช.3) ยื่นต่อนายทะเบียนทุกระยะ 3 เดือน

และในกรณีชำระบัญชีไม่เสร็จเกินกว่า 1 ปี ผู้ชำระบัญชีต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อครบปีทุกปี เพื่อรายงานความเป็นไปของการชำระบัญชี

  1. เมื่อผู้ชำระบัญชีดำเนินการชำระบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติรายงานผลการชำระบัญชี
  2. เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีต่อนายทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันประชุมอนุมัติเสร็จการชำระบัญชี ถ้าไม่ดำเนินการมีความผิด ปรับ ผู้ชำระบัญชี ไม่เกินห้าหมื่นบาท

อย่างไรก็ตามขั้นตอนการเลิกกิจการเหล่านี้สามารถปรับได้ตามขนาดหรือรูปแบบกิจการ หากเป็นธุรกิจขนาดเล็กซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำกันเอง มีผู้ถือหุ้นที่ไว้ใจได้ หรือเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ก็สามารถตกลงกันเองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีวาระการประชุมก็ได้ เซ็นเอกสารยินยอมรวมกันก็เป็นอันเสร็จสิ้นได้เลย

ขั้นตอนการปิดบริษัท

ตัวอย่างรายงานการประชุมเลิกบริษัท

ขั้นตอนการปิดบริษัท (ตั้งแต่จดทะเบียนเลิกตลอดจนชำระบัญชี)

  1. การจดทะเบียนเลิกบริษัท

ชั้นตอนแรก เราต้องเรียกประชุมผู้เป็นหุ้นส่วน โดยการส่งจดหมายลงทะเบียนหรือลงประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เพื่อเรียกประชุมและกำหนดวันเวลาว่า จะประชุมเมื่อใด เมื่อถึงกำหนดวันเวลา เราก็เริ่มจัดทำการประชุมกันเพื่อตกลงว่า ต้องการเลิกบริษัท ,แต่งตั้งผู้ชำระบัญชี,ผู้สอบบัญชี, ผู้ถือหุ้นลงลายมือชื่อในคำขอเลิกบริษัท

  1. การจัดทำงบการเงินยื่นแบบภาษีต่าง ๆ

หลังจากที่จดทะเบียนเลิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาที่ต้องทำนั่นคือการจัดทำงบการเงินและยื่นแบบภาษีต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ซึ่งหน้าที่นี้ทางผู้ประกอบการจะต้องให้นักบัญชีเข้ามาช่วยจัดการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. งบการเงินที่จัดทำเป็นงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ จะต้องให้ผู้ทำบัญชีทำ และต้องมีผู้สอบบัญชีเซ็นรับรอง ทั้งกรณีบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด
  2. นำส่งแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยการยื่น ภงด.50 พร้อมงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ ภายใน 150 วันนับจากวันที่เลิก
  3. นำส่งแบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยการยื่น ภงด.3 หรือ ภงด.53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากวันที่เลิก ให้ครบถ้วน เช่น การหัก ณ ที่จ่ายค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี เป็นต้น
  4. กรณีบริษัทที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทจะต้องนำส่งแบบ ภพ.30 ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้รับ “หนังสือขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษี” จากกรมสรรพากร
  5. นำส่งแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยการยื่น ภธ.40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากวันที่เลิก ในกรณีที่มีบัญชีดอกเบี้ยค้างรับ หรือดอกเบี้ยรับ ในงบการเงิน
  1. ถ้าบริษัทจดเข้าระบบภาษีมูลเพิ่ม ต้องเลิกที่สรรพากร

เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการดำเนินการเลิก Vat เป็นเอกสารแบบฟอร์มเลิกบริษัท หนังสือชี้แจงเลิกกิจการ สรรพากร ในส่วนข้อนี้สรรพากรแต่ละพื้นที่จะขอเอกสารไม่เหมือนกัน ควรจะต้องโทรไปเช็คก่อน ซึ่งเอกสารเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นทั่วไปมีดังนี้

  1. หนังสือเอกสารแบบ ภพ.09 จำนวน 4 ฉบับ และเอกสารอื่น ๆ ที่ใช้ในการจดทะเบียนเลิกระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
  2. หนังสือรับรองบริษัท (เลิก)
  3. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ชำระบัญชีทุกคน
  4. ภพ.01, ภพ.1, ภพ.09 และ ภพ.20 ตัวจริง ถ้าหายจะต้องใช้ใบแจ้งความหายแทน และในใบแจ้งความต้องระบุชื่อบริษัทด้วย
  5. หนังสือชี้แจงเหตุผลในการเลิก
  6. หนังสือมอบอานาจ (กรณีมอบอำนาจ)
  7. บัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
  8. ภงด.50 ณ วันเลิกกิจการ
  9. งบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ
  10. แผนที่แสดงที่ตั้งสานักงานของบริษัท
  11. ภพ.30 และใบเสร็จย้อนหลัง
  12. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ชำระบัญชีทุกคน
  13. ภงด.50 ภงด.51 และ งบการเงินย้อนหลัง
  14. จัดทำงบดุล งบกำไรขาดทุน ต่าง ๆ ยื่นสรรพากร

เมื่อคุณยื่น ภพ.09 แล้ว ทางคุณต้องรอให้สรรพากรเรียกตรวจประเด็นต่าง ๆที่เกี่ยวกับบริษัทคุณว่าได้นำส่งภาษีถูกต้องครบถ้วนหรือยัง ถ้าสรรพากรไม่ติดใจแล้ว ทางคุณจะได้รับ “หนังสือขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษีออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม” ทางคุณจึงจะสามารถจดเสร็จชำระบัญชีได้

  1. การจดทะเบียนเสร็จชำระบัญชี

หลังจากที่คุณได้ดำเนินการทุกขั้นตอนมาแล้วต่อมาก็คือต้องลงประกาศหนังสือพิมพ์ว่าบริษัทได้เลิกแล้ว มีใครคัดค้านหรือไม่ และในกรณีที่คุณจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับ “หนังสือขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษี” คุณก็จะต้องดำเนินการขั้นตอนสุดท้ายนั่นคือการจดเสร็จชำระบัญชี

  1. ออกหนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและโฆษณาหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ 1 ครั้ง เป็นอย่างน้อย การลงประกาศหนังสือพิมพ์ ว่าบริษัทเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ชำระบัญชีต่าง ๆ เรื่องเสร็จการชำระบัญชีอย่างน้อย 7 วัน ก่อนวันประชุม
  2. ในวันประชุมต้องมีมติในการอนุมัติงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ และอนุมัติการชำระบัญชี
  3. ยื่นจดทะเบียนการเสร็จชำระบัญชีภายใน 14 วันนับจากวันมีมติเสร็จชำระบัญชี
  4. เมื่อจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ก็เป็นเสร็จสิ้นการปิดบริษัทเป็นที่เรียบร้อย

และในส่วนจัดทำขั้นตอนข้อที่ 1. การจดทะเบียนเลิกบริษัทและขั้นตอนที่ 4 การจดเสร็จชำระบัญชี จะต้องดำเนินการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่วนขั้นตอนที่ 2 การจัดทำงบการเงินและยื่นแบบภาษีต่าง ๆ ให้ครบถ้วน และขั้นตอนที่ 3 การเลิกที่กรมสรรพากร (กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะต้องดำเนินการที่กรมสรรพากร

สรุป ขั้นตอนการเลิกบริษัท ปิดบริษัท

  1. การจดทะเบียนเลิกบริษัท
  2. การจัดทำงบการเงินยื่นแบบภาษีต่าง ๆ
  3. ถ้าบริษัทจดเข้าระบบภาษีมูลเพิ่ม ต้องเลิกที่สรรพากร
  4. การจดทะเบียนเสร็จชำระบัญชี

ภพ.09

ภพ.09

ภพ.01

ภพ01

การเตรียมเอกสารสำคัญสำหรับการจดเลิกบริษัท

เอกสารที่ต้องเตรียมไว้

ในส่วนของเอกสารที่ประกอบคำขอจดทะเบียนต่าง ๆ สามารถไปโหลดจากเว็บกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

  1. สำเนาบัตรประชาชน+ทะเบียนบ้านของผู้ถือหุ้นทุกคน
  2. แบบคำขอจดทะเบียนเลิก (แบบ ลช.1)
  3. รายการจดทะเบียนเลิก (แบบ ลช.2)
  4. สำเนาคำสั่งศาลให้เลิกบริษัท (ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เลิก)
  5. สำเนารายงานการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นซึ่งผู้ถือหุ้นที่มีมติตั้งผู้ชำระบัญชีหรือกำหนดอำนาจผู้ชำระบัญชีเป็นอย่างอื่น โดยมีกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทตามที่จดทะเบียนไว้ก่อนเลิกบริษัท ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง (ใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ชำระบัญชีมิใช่กรรมการทุกคน ตามที่จดทะเบียนไว้ก่อนเลิก หรือกำหนดอำนาจของผู้ชำระบัญชีเป็นอย่างอื่นซึ่งมิใช่อำนาจของกรรมการตามที่จดทะเบียนไว้ก่อนเลิก)
  6. แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานของผู้ชำระบัญชี และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป
  7. สำเนาใบมรณะบัตร (ใช้เฉพาะกรณีกรรมการถึงแก่กรรม)
  8. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ชำระบัญชีทุกคน
  9. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
  10. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเอง ก็มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจและปิดอากรแสตมป์ด้วย)

ถ้าบริษัทจดเข้าระบบภาษีมูลเพิ่มด้วย

  1. เอกสารการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30)พร้อมใบเสร็จประมาณ 2-5 ปี
  2. งบดุล งบกำไรขาดทุน ที่ยื่นสรรพากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประมาณ 2-5 ปี
  3. งบดุล งบกำไรขาดทุน ณ วันเลิก ที่ยื่นสรรพากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  4. เอกสารการจดทะเบียนเลิก ภพ.09
  5. เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลที่ต้องใช้

  1. วันที่เลิกบริษัท
  2. ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ และอายุของผู้ชำระบัญชี
  3. อำนาจผู้ชำระบัญชี
  4. ที่ตั้งสำนักงานของผู้ชำระบัญชี

การเลิกบริษัทเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐบาลดังนี้

  1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
    • จดทะเบียนเลิกบริษัท
    • จัดทำงบการเงิน ณ วันเลิก และส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรอง
    • จดทะเบียนเสร็จชำระบัญชี
  2. กรมสรรพากร
    • แจ้งปิดบริษัท ภายใน15วัน
    • ยื่น ภงด. 50 ของงบที่เลิกบริษัท
    • คืนใบ ภพ20 ตัวจริง
  3. สำนักงานประกันสังคม
    • แจ้งเลิกกิจการ

สรุป

เพราะการปิดบริษัทนั้นแท้จริงแล้วมีความซับซ้อนวุ่นวายมากกว่าตอนเปิดกิจการหรือเริ่มจัดตั้งธุรกิจขึ้นมาเสียอีก หลายท่านคงคิดว่าทำไมจะปิดกิจการทั้งที ยังจะต้องยุ่งยากอีก ก็เพราะว่าการปิดบริษัทให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แบบนั้นถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่เจ้าของกิจการต้องดำเนินการรับผิดชอบต่อธุรกิจของตนเองให้เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้นเราไม่ควรจะต้องปล่อยให้เกินจะรับมือ หากเกิดสัญญาณไม่ดีแล้ว พอจะมีหนทางแก้ไขปัญหาตรงนั้นหรือไม่ ก็ควรปรึกษาหารือในที่ประชุมให้แน่ใจว่าอยู่ในระดับวิกฤตขนาดไหน หากไม่สามารถไปต่อไปได้แล้วก็ควรจะตัดสินใจเสียตั้งแต่วันที่ยังพอจะตั้งหลักได้เพื่อปรับตัวให้ทัน หรือในวันที่ย่ำแย่ที่สุดไม่เหลืออะไรและยังติดลบอีกก็ต้องพร้อมที่จะรับมือและก้าวต่อไปเพื่อวันใหม่ที่จะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน

ติดต่อทีมงานปรึกษาเรื่อง “เลิกกิจการ” โทร.081-931-8341

อ่านบทความทั้งหมด >>> pangpond.com