ค่านิยม

12 พัฒนา ค่านิยมประการสังคมไทยกตัญญู?

Click to rate this post!
[Total: 162 Average: 5]

ค่านิยม 12 ประการ

ค่านิยมไทย 12 ประการ ได้แก่

  1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน
  3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
  4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม
  5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย
  6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์
  7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย
  8. มีระเบียบ วินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่
  9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ
  10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ
  12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยผู้คนบางกลุ่มมีแนวคิดและ ค่านิยมที่แตกต่างจนนำไปสู่ความแตกแยก ขัดแย้ง และทำท่าว่าจะลุกลามนำไปสู่การ สูญเสียอย่างประมาณค่าไม่ได้
ความต่างบนความคิดด้วยความรู้สึกความชอบ ความเชื่อที่พัฒนาการไปสู่ค่านิยมที่ไม่สมควรจะนิยมของกลุ่มคนที่ผ่านมานั้น บัดนี้ ได้รับการแก้ไขปกป้องคุ้มครองเยียวยาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ในอดีต ค่านิยมซึ่งเป็นวัฒนธรรมจนกลายมาเป็นวิถีชีวิตของคนไทย คือความเอื้ออาทรเมตตากรุณาต่อกันด้วยค่านิยมของความเป็นไทยที่ถูกถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่อง ชาวต่างชาติที่ได้มาเยี่ยมเยือนต่างซาบซึ้งและประทับใจในความมีวัฒนธรรมด้วยค่านิยมที่ดีงาม ซึ่งบางชาติไม่มี
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในโลกนี้ที่มีเสน่ห์ ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส ทรัพยากรเพียบพร้อม, ใครมาเยือนจะประทับใจในมิตรไมตรีที่ไม่อาจจะลืมเลือน จนมีสื่อมวลชนตลอดจนองค์กรต่างๆ ได้เผยแพร่เกียรติภูมิไปทั่วโลก

ด้วยค่านิยมและวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนซึ่งเป็นพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงของโลกตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ นำมาซึ่งวันนี้ คนไทย สังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนหรือ ผู้หลักผู้ใหญ่บางกลุ่มกำลังจะลืมและห่างไกลจากค่านิยมที่ดีงามจนน่าวิตกยิ่ง
เป็นสัจธรรม สรรพสิ่งใดๆ ก็ตามเมื่อมีเกิด ก็ย่อมมีดับ แต่อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นความโชคดีของสังคมไทยเมื่อมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคล คสช.ได้เข้ามากอบกู้และทวงคืนความเป็นไทยให้กับคนไทยอีกครั้งหนึ่ง คสช.ในสายตาของมวลประชาชนวันนี้เปรียบเสมือนอัศวินม้าขาวที่กำลังปฏิรูปและทวงคืนความผาสุกสู่ประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ที่กำหนดออกมาเป็นขั้นเป็นตอนอย่างน่าสนใจยิ่ง
กรุงศรีอยุธยาไม่เคยสิ้นคนดีฉันใด วันนี้ กรุงรัตนโกสินทร์ในยุค คสช.กำลังเป็นที่หวังของคนไทยทั้งมวลกับโอกาสในการสร้างสรรค์คุณค่าเพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวไกลสู่อนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้กับคนในชาติ” เมื่อคืนวันที่ 11 กรกฎาคม 2557 ความตอนหนึ่งว่า
“สิ่งที่คนไทย ประเทศไทยยังเป็นปัญหา และต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน ต้องมีความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในทุกระดับชั้นทุกเพศทุกวัย เรื่องที่ 1 อยากจะเรียนว่า เราน่าจะกำหนดค่านิยมหลักของคนไทยขึ้นมาให้ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อเราจะสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็ง ฉะนั้น คนไทยต้องเข้มแข็งก่อน คนในชาติจะต้องเป็นอย่างไร ดังนี้

1.มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติในปัจจุบัน

2.ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ใน สิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม

3.กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์

4.ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทางตรงและทางอ้อม

5.รักษาวัฒนธรรมไทย ประเพณีไทยอันงดงาม

6.มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อ ผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน

7.เข้าใจ เรียนรู้ การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง

8.มีระเบียบวินัยเคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักเคารพผู้ใหญ่

9.มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติ ตามพระราช ดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

10.รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่าย จำหน่าย และขยายกิจการเมื่อมีความพร้อมโดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี

11.มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา 12.คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและต่อชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดย ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ รับลูก คสช.ด้วยการนำค่านิยม 12 ประการ ปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนในสังกัดโดยนำนโยบาย คสช.เพื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็งพร้อมขยายผลสู่สถานศึกษา โดยผ่านการเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง รวมถึงจัดการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ในวงกว้าง คาดหวังสร้างคนในชาติให้เข้าใจและเห็นความสำคัญในค่านิยม 12 ประการ

ในเรื่องการนำแนวคิดค่านิยม 12 ประการเข้าสู่สถานศึกษานั้น เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า อันที่จริงก่อนหน้านี้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนไว้อยู่แล้ว 8 ประการ ซึ่งคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 ประการสอดคล้องกับค่านิยมหลักของคนไทยทั้ง 12 ประการของ คสช. แต่ของ คสช.จะมีจุดเน้นที่โดดเด่นเป็นรูปธรรมในบางเรื่องมากกว่า อาทิ ข้อ 3 กตัญญูต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ หรือข้อ 9 มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว สพฐ.จึงจะปรับหลักสูตรหน้าที่พลเมืองให้ครอบคลุมค่านิยม 12 ประการ รวมทั้งจะให้โรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังจิตสำนึก (มติชน 16 กรกฎาคม 2557 หน้า 7)

การปลูกฝังค่านิยมหรือปลูกจิตสำนึกให้คนในชาติได้เข้าใจในบริบทของความเป็นไทยอย่างแท้จริง และสามารถรักษาหรืออนุรักษ์ไว้อย่างยั่งยืนตลอดกาล การเริ่มต้นที่สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุด การรับลูกของเลขาฯ กพฐ.ต่อการสานต่อนโยบาย คสช. จึงถือได้ว่า สพฐ.เดินมาถูกทาง เข้าใจในบริบทของสังคมไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของสถานศึกษาทุกระดับและน่าชื่นชมยิ่ง
อันที่จริงการปลูกจิตสำนึกให้ผู้คนตระหนักและนำไปเป็นแนวปฏิบัติเพื่อเป็นวิถีชีวิตนั้น ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เฉพาะ สพฐ.ที่จะดำเนินการในสถานศึกษาเท่านั้น ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ผู้บริหารองค์กรภาครัฐและเอกชนทุกระดับต้องตระหนักและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาค่านิยมที่ผิดๆ เพี้ยนๆ ในบ้านเราส่วนใหญ่มาจากผู้ใหญ่ในสังคมส่วนหนึ่ง กระแส โลกาภิวัตน์ส่วนหนึ่ง ที่สำคัญสื่อมวลชนบางแขนงก็เป็นหนึ่งในต้นแบบให้คนเปลี่ยนค่านิยมไปในทางที่ไม่เหมาะสม

ขณะที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสังคมอุดมปัญญาก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรหลักที่จะติดอาวุธทางความคิดให้กับเหล่าบรรดานักศึกษา ซึ่งถือได้ว่าเขาเหล่านั้นเป็นทรัพยากรอันสำคัญของชาติ วัยรุ่นหรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยยุคนี้ต่างจากอดีต เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมาความคิด ความอ่าน วิถีชีวิตส่วนหนึ่งอยู่กับค่านิยมผิดๆ ลุ่มหลงอบายมุขโดยเฉพาะแสง สี เสียงจนกลายเป็นบริโภคนิยม ขาดความตระหนักต่อขนบธรรมเนียมประเพณีไทย
การที่ คสช.กำหนดแนวคิดให้ผู้คนตระหนักและตื่นตัวกับค่านิยม 12 ประการ วันนี้ชาวมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไม่ควรมองข้าม ควรที่จะนำแนวคิดดังกล่าวไปถ่ายทอดแก่นักศึกษา ครู อาจารย์ พนักงาน โดยให้ถือเป็น Agenda หนึ่งของยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ และเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของนักศึกษา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานมรดกอันล้ำค่าแก่เยาวชนไทยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ด้วยการพระราชทานกิจการลูกเสือ เพื่อเป็นการวางรากฐานให้เยาวชนตระหนักในบทบาทหน้าที่ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นคนเก่ง คนดี โดยมีคำปฏิญาณและกฎเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต 10 ข้อ
ค่านิยม 12 ประการของ คสช.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยิบยกมาเสนอต่อสังคมถือได้ว่ารูปแบบและกิจกรรมต่างๆ สามารถนำไปผนวกหรือบูรณาการกับกฎลูกเสือได้เป็นอย่างดี

การมองถึงอนาคตลูกหลานไทยและประเทศชาติย่อมเป็นวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กรต่างๆ การสร้างสรรค์ค่านิยมที่ดีถือได้ว่านั่นคือความงดงามของสังคมไทยในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนซึ่งได้ชื่อว่าคนไทยจะต้องยึดเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
วันนี้หากพิจารณาอย่างรอบด้านจะพบว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นผลงานอันน่าละอายของผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจบางคน บางกลุ่มในอดีต วันนี้ทุกฝ่ายควรลืมอดีตและจับมือหันหน้าเข้าหากันเพื่อทวงคืนความผาสุกสู่สังคมไทยตามแนวทาง คสช. ซึ่งหากดำเนินการได้สำเร็จ ผลงานชิ้นนี้จะส่งผลบุญแก่ประชากรในสยามประเทศได้ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ค่านิยมที่เกาะติดอยู่กับคนไทยมานานวันนั่นก็คือ การเกาะกระแส การตื่นตัวกับเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังได้รับความสนใจ ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวมักจะปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ เช่น การเด้งรับลูกกับกระแสต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว และไม่นานคนบางกลุ่มก็ลืมกระแสดังกล่าวด้วยความเร็วเช่นเดียวกัน หลายๆ เหตุการณ์ที่ปรากฏให้เป็นประเด็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะแนวคิดหรือนโยบายของรัฐบาลหรือผู้นำประเทศ ข้าราชการซึ่งเป็นกลไกของรัฐมักจะขานรับและตอบสนอง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านเลย เรื่องที่เคยสนใจและให้ความสำคัญก็เลือนหายไปอย่างไม่มีใครจะเยื่อใยต่อสิ่งเหล่านั้นเช่นเดียวกัน
วันนี้ คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อทวงคืนความสุขสู่สังคม ดังนั้น จึงขอให้คนไทยทั้งประเทศได้เป็นสะพานเชื่อมโยงเพื่อนำแนวคิดไปสู่การปฏิบัติโดยเฉพาะค่านิยม 12ประการ ถ้าทำได้จะเป็นช่องทางหนึ่ง ในการคืนความสุขให้กับคนไทยได้อย่างแท้จริง เพียงแต่ว่าวันนี้มีคำถามตามมาว่าคนไทยพร้อมหรือยัง

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

https://sites.google.com/site/web61ggg/home

อ่านบทความทั้งหมด >>> pangpond.com