วัฒนะธรรมระหว่างประเทศ

5 วัฒนธรรมระหว่างประเทศ ความสำคัญ คล้ายคลึง?

Click to rate this post!
[Total: 170 Average: 5]

วัฒนธรรมระหว่างประเทศ

แนวคิดสำคัญ (Main Idea)
การที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคมย่อมต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของกลุ่ม มีระเบียบแบบแผนที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในกลุ่มให้อยู่ในขอบเขตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข สิ่งที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มคนนี้เราเรียกว่า “วัฒนธรรม”  ดังนั้นวัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนอาภรณ์ห่อหุ้มร่างกายตกแต่งคนให้น่าดูชม วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กับคนเสมอไป
การรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือกลุ่มอาเซียนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเมือง เศรษฐกิจ ประชาชนในกลุ่มอาเซียนมีการติดต่อสื่อสารด้านต่าง ๆ มากขึ้น จึงจำเป็นต้องศึกษาวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อไป
หัวข้อเรื่อง (Topics)
  1. ความหมายของวัฒนธรรม
  2. ประเภทของวัฒนธรรม
  3. ความสำคัญของวัฒนธรรม
  4. วัฒนธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน
  5. ภาษาอาเซียนน่ารู้
สมรรถนะย่อย (Element of Competency)
  1. แสดงความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมระหว่างประเทศ
  2. ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมระหว่างประเทศ
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives)
  1. บอกความหมายของวัฒนธรรมได้
  2. บอกประเภทของวัฒนธรรมได้
  3. อธิบายความสำคัญของวัฒนธรรมได้
  4. อธิบายวัฒนธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้
  5. บอกภาษาอาเซียนน่ารู้ได้

เนื้อหา

วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตหรือสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตนวัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ อาจได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับภูมิภาคอื่น เช่นการเป็นอาณานิคม การค้าขาย การย้ายถิ่นฐาน การสื่อสารมวลชนและศาสนาอีกทั้งระบบความเชื่อล้วนมีบทบาทในวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด

ดังนั้นการที่วัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ พันธุกรรม ประสบการณ์ และวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามเราสามารถฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้ที่มีลักษณะนิสัยที่ดีงาม ถูกต้องตามวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคได้ โดยเราต้องมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้วัฒนธรรม และนำมาฝึกประพฤติปฏิบัติตัวในลักษณะที่ดีให้เกิดเป็นนิสัยประจำตัว ซึ่งแสดงออกทั้งทางด้านร่างกาย เป็นบุคลิกภาพที่ผู้อื่นสามารถมองเห็น นอกจากนั้นเราควรมีการพัฒนาฝึกฝนการแสดงกิริยามารยาทให้ปรากฏเป็นบุคลิกภาพของตนเอง เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในอาชีพเป็นที่รักใคร่ชื่นชอบของสังคม

ความหมายของวัฒนธรรม

                เมื่อกล่าวถึงความหมายของวัฒนธรรม(Culture) ได้มีผู้ให้ความหมายไว้อย่างหลากหลาย ดังนี้

Buchner(1998 อ้างอิงใน ศุภลักษณ์ อังครางกูร 2547:128) กล่าวว่า วัฒนธรรมอาจอยู่ในรูปแบบที่สัมผัสได้ หรืออยู่ภายใต้ในตัวบุคคล สิ่งที่สัมผัสได้ เช่น การแต่งกาย ภาษา และสิ่งที่อยู่ภายใน เช่น ทัศนคติ ความเชื่อ คุณค่า การรับรู้ รูปแบบของวัฒนธรรมอาจถูกแบ่งตามการสื่อสาร กล่าวคือ วัฒนธรรมที่สามารถสื่อออกมาได้ด้วยเสียง เช่น ภาษา การหัวเราะ ร้องไห้ น้ำเสียง และวัฒนธรรมที่สื่อออกมาโดยไม่ใช้เสียง เช่น ท่าทาง สีหน้า การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในการสนทนา

นิตยา บุญสิงห์ (2554:12-13) กล่าวว่า วัฒนธรรม แปลตามตัวอักษรหมายความว่า สภาพอันเป็นความเจริญงอกงาม วัฒนธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรม วาจาท่าทาง กิจกรรม และผลิตผลของกิจกรรมที่มนุษย์ในสังคมผลิตหรือปรับปรุงขึ้นจากธรรมชาติและเรียนรู้ซึ่งกันและกันโดยผ่านการคัดเลือก ปรับปรุง และยึดถือสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมเป็นทั้งลักษณะนิสัยของคนหรือกลุ่มคนในชาติ ลัทธิ ความเชื่อ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี อาหารการกิน เครื่องใช้ไม้สอย ศิลปะต่างๆ ตลอดทั้งการประพฤติปฏิบัติในสังคม

Daniel Bated และ Fred Plog (1998 อ้างอิงใน เมตตา วิวัฒนากูล.2548:51) ได้ให้คำนิยามของวัฒนธรรมไว้ว่า  วัฒนธรรมคือระบบการแบ่งปันร่วมกันใช้ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี พฤติกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่สมาชิกในสังคมใช้เพื่อติดต่อสัมพันธ์ในโลกของเขาต่อกันและกัน และมีการส่งต่อระหว่างรุ่นสู่คนรุ่นหลัง โดยกระบวนการเรียนรู้ คำจำกัดความนี้ หมายรวมถึงรูปแบบพฤติกรรมและรูปแบบความคิด (การให้ความหมายร่วมกันระหว่างสมาชิกในสังคมต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติ และความชาญฉลาด รวมถึงศาสนา และอุดมการณ์) สิ่งประดิษฐ์ (เครื่องมือ เครื่องจานชาม บ้าน เครื่องจักรกล งานศิลปะและความสามารถในการติดต่อทางวัฒนธรรมและเทคนิคในการใช้สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ)

พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช2486 ได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมไว้ดังนี้ (บ้านจอมยุทธ ม.ป.ป.)

วัฒนธรรม คือลักษณะที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันของประชาชน

วัฒนธรรมจึงเป็นลักษณะพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั้งบุคคลและสังคม ที่ได้วิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาอย่างมีแบบแผน แต่อย่างไรก็ดีมนุษย์นั้นไม่ได้เกาะกลุ่มอยู่เฉพาะในสังคมของตัวเอง ได้มีวาทสัมพันธ์ติดต่อกับสังคมต่าง ๆ ซึ่งอาจอยู่ใกล้ชิดมีพรมแดนติดต่อกัน หรืออยู่ปะปนในสถานที่เดียวกัน หรือการที่ชนชาติหนึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของชนชาติหนึ่ง มนุษย์เป็นผู้รู้จักเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสิ่งต่างๆ จึงนำเอาวัฒนธรรมที่เห็นที่ได้สัมพันธ์ติดต่อกันมาใช้โดยอาจรับมาเพิ่มเติมเป็นวัฒนธรรมของตนเองโดยตรงหรือนำเอามาดัดแปลงแก้ไขให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม

                ในปัจจุบันไม่มีประเทศชาติใดที่จะมีวัฒนธรรมบริสุทธิ์อย่างแท้จริง แต่จะมีวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจากความรู้ประสบการณ์ที่สังคมตกทอดมาโดยเฉพาะของสังคมนั้น และนำเอาวัฒนธรรมแหล่งอื่นที่ใกล้เคียงเข้ามาผสมผสาน ปะปนอยู่ ด้วยการติดต่อสัมพันธ์กันทางสังคมของกลุ่มชนนั้นๆ จนกลายมาเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งนั่นเอง

ประเภทของวัฒนธรรม

                วัฒนธรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ(บ้านจอมยุทธ ม.ป.ป.)

1. วัฒนธรรมทางวัตถุ (Material Culture) คือเครื่องมือ เครื่องใช้ที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อความสุขทางกายอันได้แก่ ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องป้องกันตัวให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง

เครื่องปั้น
เครื่องปั้น

2. วัฒนธรรมทางจิตใจ(Mental culture)เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของมนุษย์เพื่อให้เกิดปัญญา และมีจิตใจที่งดงาม อันได้แก่ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม คติธรรม ตลอดจนศิลปะ วรรณคดี และระเบียบแบบแผน ของขนบธรรมเนียมประเพณี

วัฒนธรรมเครื่องแต่งกาย

วัฒนธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน

วัฒนธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน
วัฒนธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน

อาเซียนมาจากคำในภาษาอังกฤษ คือ “ASEAN” มาจากคำว่า (Association of South East Asian Nation) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ คือไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2510 สำนักงานใหญ่ของสมาคมอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย การดำเนินงานของประชาคมอาเซียนมุ่งเน้นให้กลุ่มประเทศสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาระหว่างกันโดยสันติวิธี มุ่งเน้นให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน และมุ่งหวังให้ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงทางสังคม มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และมีสังคมแบบเอื้ออาทร    

                การจัดตั้งประชาคมอาเซียนนี้ จะทำให้อาเซียนรวมตัวกันเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันเพื่อให้มีความเข้มแข็งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มีศักยภาพในการแข่งขัน และได้ย่นระยะเวลาในการจัดตั้งให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558

                ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อของแต่ละประเทศ เพื่อให้การติดต่อสัมพันธ์กันของชนชาติในอาเซียน ได้มีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละประเทศ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันจะเป็นผลให้การดำเนินงานในด้านต่างๆ บรรลุผลประสบกับความสำเร็จ และอยู่บนพื้นฐานของการทำงานที่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน การได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยในที่นี้จะได้กล่าวถึงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เรียงลำดับดังต่อไปนี้

แผนที่อาเซียน 10 ประเทศ

1. ประเทศไทย

กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร
  • ชื่อทางการราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)
  • เมืองหลวงกรุงเทพมหานคร (Bangkok)
  • ภาษาราชการ: ภาษาไทย
  • ศาสนา: ประมาณร้อยละ 95 ของประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัย แม้ว่ายังจะไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ตาม ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยทางภาคใต้ตอนล่าง ศาสนาคริสต์และศาสนา อื่นประมาณร้อยละ 1
  • สกุลเงิน: บาท (Baht: THB)
  • ธงชาติ :  ประกอบด้วย 3 สีหลัก ได้แก่ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน มีการแบ่งเป็นริ้วจำนวน 5 แถบ ซึ่งแถบในสุดเป็นสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบน ด้านล่าง เป็นสีขาว และสีแดงตามลำดับ ทั้งนี้ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ส่วนสีต่าง ๆ มีความหมาย ดังนี้ สีแดง หมายถึง ชาติ , สีขาว หมายถึง ศาสนา , สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตาม มีการเรียกชื่อธงนี้ว่า ธงไตรรงค์ (ไตร = สามรงค์ = สี) เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ไว้เมื่อ พ.ศ. 2464 โดยได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ว่า

  • สีแดงหมายถึง ชาติ หรือความเป็นชนชาติไทย ความเป็นแผ่นดินไทย
  • สีขาวหมายถึง ศาสนา หรือลัทธิความเชื่ออันบริสุทธิ์
  • สีน้ำเงินหมายถึง พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐต่อประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงแม้นิยามดังกล่าวจะไม่ใช่คำอธิบายที่ทรงประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสามสิ่งนี้คืออุดมการณ์รัฐที่พระองค์ทรงปลูกฝัง เพื่อให้คนไทยเกิดสำนึกความเป็นชาตินิยมมาตลอด
สีธงชาติไทย
สีธงชาติไทย
  • ดอกไม้ประจำชาติ ดอกไม้ประจำชาติไทยคือ ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek) มีสีเหลืองสวยสง่างาม เมื่อเบ่งบานแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมีเกียรติยศศักดิ์ศรี ซึ่งชาวไทยหลายคนรู้จักกันดีในนามของ “ดอกคูน” โดยมีความเชื่อว่าสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์คือสีแห่งพระพุทธศาสนาและความรุ่งโรจน์ รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีปรองดองของคนในชาติอีกด้วย โดยดอกราชพฤกษ์จะเบ่งบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์พฤษภาคม มีจุดเด่นเวลาเบ่งบานคือการผลัดใบออกจนหมดต้น เหลือไว้เพียงแค่สีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์เท่านั้น
ดอกราชพฤกษ์
ดอกราชพฤกษ์
  • สัตว์ประจำชาติ ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติไทยมาอย่างยาวนาน โดยในสมัยโบราณบ้านเรามีช้างอยู่มากมายนับแสนตัว ช้างส่วนมากจะถูกใช้ในการสงครามเป็นหลัก ต่อมาเมื่อมีอาวุธสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ช้างจึงถูกนำไปใช้แรงงานจำพวกชักลากไม้ในป่า และในปัจจุบันช้างเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่ถูกใช้ในงานการแสดงและการท่องเที่ยว ประเทศไทยเคยใช้ช้างเป็นส่วนหนึ่งของธงชาติ เรียกว่าธงช้างเผือก ก่อนจะถูกเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์อย่างในปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ.2460 แต่ยังมีธงหน่วยงานราชการบางแห่งที่ใช้ใช้ช้างเป็นองค์ประกอบ เช่น ธงของราชนาวีไทย เป็นต้น
ช้างไทย
ช้างไทย
  • ชุดประจำชาติ สำหรับชุดประจำชาติอย่างเป็นทางการของไทย รู้จักกันในนามว่า “ชุดไทยพระราชนิยม”โดยชุดประจำชาติสำหรับสุภาพบุรุษ จะเรียกว่า “เสื้อพระราชทาน” สำหรับสุภาพสตรีจะเป็นชุดไทยที่ประกอบด้วยสไบเฉียง ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัว ซิ่นมีจีบยกข้างหน้า มีชายพกใช้เข็มขัดไทยคาด ส่วนท่อนบนเป็นสไบ จะเย็บให้ติดกับซิ่นเป็นท่อนเดียวกันหรือ จะมีผ้าสไบห่มต่างหากก็ได้ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ ทิ้งชายด้านหลังยาวตามที่เห็นสมควร ความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้าการเย็บและรูปทรงของผู้ที่สวม ใช้เครื่องประดับได้งดงามเหมาะสมโอกาสในเวลาค่ำคืน
  • วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากสังคมไทยมีลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มและอุดมสมบูรณ์ด้วยแม่น้ำลำคลอง คนไทยได้ใช้น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ในการเกษตรกรรมและการอาบ กิน เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาหน้าน้ำ คือ เพ็ญเดือน 11 และเพ็ญ เดือน 12 ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาปลายเดือนตุลาคมและปลายเดือนพฤศจิกายน อันเป็นระยะเวลาที่น้ำไหลหลากมาจากทางภาคเหนือของประเทศ คนไทยจึงจัดทำกระทงพร้อมด้วยธูปเทียนไปลอยในแม่น้ำลำคลองเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษแม่คงคา และขอพรจากแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ทำให้เกิดประเพณีลอยกระทงนอกจากนั้นยังมีประเพณีอื่น ๆ อีกในส่วนที่เกี่ยวกับแม่น้ำลำคลอง เช่น ประเพณีแข่งเรือ
แข่งเรือหางยาว
แข่งเรือหางยาว
  • วิถีชีวิต : วิถีชีวิตของคนไทยในอดีต อาศัยอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง สัญจรไปมาด้วยเรือ นับถือศาสนาพุทธ มีขนบธรรมเนียม ประเพณี และการใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธทั้งสิ้น คนไทยส่วนใหญ่มีนิสัยเป็นมิตรยิ้มง่าย จนได้รับสมญานามว่า “สยามเมืองยิ้ม” คนไทยมีบรรพบุรุษมาจากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทยแท้ จีน มอญ ญวน มลายู เป็นต้น

จากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ทำให้ความเป็นอยู่ของคนไทยกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้นเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติ แต่ยังคงปลูกฝังความเป็นไทย การเคารพผู้ใหญ่ ความผูกพันในเครือญาติและความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

วิถีชีวิตของคนไทย
วิถีชีวิตของคนไทย
  • อาหาร : ต้มยำกุ้ง (Tom Yam Goong) อาหารขึ้นชื่อที่สุดของประเทศไทยของเรา ซึ่งจริงๆแล้วในประเทศไทยมีอาหารรสชาติเยี่ยมยอดและขึ้นชื่ออยู่มากมาย แต่ถ้าจะให้เลือกอาหารที่ขึ้นชื่อและนักท่องเที่ยวต่างประเทศชอบกินกันมากที่สุด ก็คือต้มยำกุ้ง ด้วยรสชาติที่เผ็ด เปรี้ยว รวมกับกุ้งแม่น้ำและเครื่องแกงทั้ง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองไทยต้องได้ลิ้มลองกันทุกคน
ต้มยำกุ้ง
ต้มยำกุ้ง

จุดแข็ง

  • เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงคมนาคมด้านต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
  • มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีชื่อเสีย

ข้อควรรู้

  • ไปศาสนสถานควรแต่งกายเรียบร้อยก่อนเข้าอุโบสถต้องถอดรองเท้า
  • สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ การละเมิดใดๆ ถือเป็นความผิด

ตามรัฐธรรมนูญ

  • ทักทายกันด้วยการไหว้
  • ถือว่าเท้าเป็นของต่ำ ไม่ควรพาดบนโต๊ะ หรือเก้าอี้ หรือหันทิศทางไปที่ใคร
  • ธงชาติถือเป็นของสูง ไม่ควรนำมากระทำการใดๆที่เป็นการเหยียดหยาม

2. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
  • ชื่อทางการ: สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)
  • เมืองหลวง: กรุงมะนิลา (Manila)
  • ภาษาราชการ: ภาษาฟิลิปิโน (Filipino) และภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่ใช้กันมากในประเทศฟิลิปปินส์มีทั้งหมด 8 ภาษา ได้แก่ ภาษาสเปน ภาษาจีนฮกเกี้ยน ภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาซินด์ ภาษาปัญจาบ ภาษาเกาหลี และภาษาอาหรับ โดยฟิลิปปินส์นั้นมีภาษาประจำชาติคือ ภาษาตากาล็อก
  • ศาสนา: ร้อยละ 92 ของชาวฟิลิปปินส์ทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์ โดยร้อยละ 83 นับถือนิกายโรมันคาทอลิก และร้อยละ 9 เป็นนิกายโปรเตสแตนต์ มุสลิมร้อยละ 5 พุทธและอื่น ๆ ร้อยละ 3
  • สกุลเงิน: เปโซ (Peso : PHP)
  • ธงชาติ : ธงชาติฟิลิปปินส์ ด้านต้นธงเป็นรูปสามเหลี่ยมสีขาว เป็นเครื่องหมายแทนความเสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งภายในสามเหลี่ยมสีขาว ประกอบด้วย ดวงอาทิตย์รัศมี 8 แฉก ล้อมด้วยดาว 5 แฉก จำนวน 3 ดวง และตั้งอยู่ตามมุมของรูปสามเหลี่ยม ซึ่งสัญลักษณ์ทั้งหมด ล้วนเป็นสีทอง ส่วนด้านที่เหลือของธง ได้แบ่งครึ่งตามความยาว โดยแถบบนมีสีน้ำเงิน และแถบล่างมีสีแดง

ทั้งนี้ หากแถบทั้งสองสีดังกล่าว ได้มีการสลับตำแหน่งกัน คือ แถบสีแดงอยู่ด้านบน แถบสีน้ำเงินอยู่ด้านล่าง แสดงว่า ขณะนั้นประเทศฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในภาวะสงคราม ส่วนสี และสัญลักษณ์ ต่างๆ มีความหมาย ดังนี้ สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพ สัจจะ และความยุติธรรม , สีแดง หมายถึง ความรักชาติ และความมีคุณค่า ดวงอาทิตย์มีรัศมี 8 แฉก หมายถึง 8 จังหวัดแรกของประเทศ ที่มีความพยายาม ในการเรียกร้องเอกราชจากประเทศสเปน กระทั่งเกิดการปฏิวัติในปี พ.ศ. 2439 ดาวสามดวง หมายถึง การแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ  ได้แก่ เกาะลูซอน เกาะมินดาเนา และหมู่เกาะวิสายัน

ธงชาติประเทศฟิลิปปินส์
ธงชาติประเทศฟิลิปปินส์
  • ดอกไม้ประจำชาติ : ดอกไม้ประจำชาติฟิลิปปินส์ คือ ดอกพุดแก้ว (Sampaguita Jasmine) ดอกมีสีขาวกลีบดอกเป็นรูปดาว มีกลิ่นหอม บานส่งกลิ่นในตอนกลางคืน ถือเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน รวมถึงความเข้มแข็งอีกด้วย
ดอกพุดแก้ว
ดอกพุดแก้ว
  • สัตว์ประจำชาติ : ควาย (Water Buffalo) ในประเทศฟิลิปปินส์นั้น ถูกนำมาใช้แรงงานเหมือนในประเทศเวียดนาม ทั้งแรงงานในด้านการเกษตรกรรมและด้านการชักลากของหนัก ดังนั้นคนฟิลิปปินส์จึงมีความผูกพันกับควายมากเป็นพิเศษ และควายได้ถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติฟิลิปปินส์ ควายเรียกตามภาษาพื้นเมืองหรือภาษาตากาล็อคว่า “คาราบาว” และชื่อนี้ถูกนำมาใช้เป็นชื่อวงดนตรีชื่อดังของไทยและใช้รูปหัวควายเป็นสัญลักษณ์
ควาย
ควาย
  • ชุดประจำชาติ : ผู้ชายจะนุ่งกางเกงขายาวและสวมเสื้อที่เรียกว่า “บารอง ตากาล็อก (barong Tagalog)”ซึ่งตัดเย็บด้วยผ้าใยสัปปะรด มีบ่า คอตั้ง แขนยาว ที่ปลายแขนเสื้อที่ข้อมือจะปักลวดลาย ส่วนผู้หญิงนุ่งกระโปรงยาว ใส่เสื้อสีครีมแขนสั้นจับจีบยกตั้งขึ้นเหนือไหล่คล้ายปีกผีเสื้อ เรียกว่า “บาลินตาวัก (balintawak)
ชุด Barong Tagalog
ชุด Barong Tagalog
  • วัฒนธรรม : อิทธิพลวัฒนธรรมจากสเปนและเมกซิโก เรียกว่า “Hispanic Influences”ที่มีมากกว่า 300 ปี ในช่วงการปกครองแบบอาณานิคม จะเห็นได้จากความเชื่อในศาสนาคาธอลิกงานประเพณีทางศาสนาในทุกปี ฟิลิปปินส์จะมีงานรื่นเริง เรียกว่า “Barrio Fiesta”เป็นการฉลองนักบุญของเมือง หมู่บ้านและเขตการปกครองต่างๆ มีการประกอบพิธีทางศาสนา การเดินขบวนในเมืองฉลองนักบุญ การจุดพลุไฟ การประกวดความงามและการเต้นรำ
  • วิถีชีวิต : ประชากรฟิลิปปินส์มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีชนเผ่ากว่า 100 ชนเผ่า กระจายกันอยู่แต่ละเผ่ามีภาษาพูดเป็นของตนเอง รัฐบาลได้ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิในที่ดินแก่ชนเผ่าพื้นเมืองแต่ก็ยังได้รับสิทธิไม่ทั่วถึง เนื่องจากห่างไกลความเจริญ และอิทธิพลของนายทุนต่างชาติทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงที่ดินกัน ส่วนอัตราการเจริญเติบโตของฟิลิปปินส์ยังคงสูง เพราะความเชื่อด้านวัฒนธรรม และการบริการด้านสาธารณสุขยังไม่ทั่วถึง

ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ วิถีชีวิตได้รับอิทธิพลมาจากศาสนา ชนเผ่าผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับศาสนาใหม่ ชาวฟิลิปปินส์ให้การเคารพผู้ใหญ่ สำนึกบุญคุณ รักพวกพ้อง เด็กๆ ในชนเผ่าเมื่อได้รับการศึกษาก็นิยมเข้าไปอยู่ในเมือง ชาวฟิลิปปินส์กินข้าวเป็นอาหารหลักและนิยมรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด จนมีร้านฟาสต์ฟู้ดสัญชาติฟิลิปปินต์เอง

  • อาหาร : อโดโบ้ (Adobo) อาหารยอดนิยมที่ต้องลิ้มลองของประเทศฟิลิปปินส์ อโดโบ้ทำจากเนื้อหมู หรือเนื้อไก่ โดยผ่านการหมักและปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู ซีอิ๊วขาว ใบกระวาน กระเทียม พริกไทยดำ จากนั้นนำไปอบหรือทอด ทานกับข้าวสวยร้อนๆ ถือว่าเป็นอาหารที่น่าสนใจมากถ้าได้มีโอกาสไปเยือน
Adobo
Adobo

จุดแข็ง

  • แรงงานทั่วไป มีความรู้สื่อสารภาษาอังกฤษได้

ข้อควรรู้

  • เท้าสะเอว หมายถึง ท้าทายเลิกคิ้ว หมายถึง ทักทาย
  • ใช้ปากชี้ของ
  • กินข้าวบ้านเพื่อนสามารถห่อกลับได้ แต่ควรมีของฝากให้เขาด้วย
  • ตกแต่งบ้าน 2 เดือน ต้อนรับคริสต์มาส

3. ประเทศมาเลเซีย

Malaysia
Malaysia
  • ชื่อทางการ: มาเลเซีย (Malaysia)
  • เมืองหลวง: กรุงกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur)
  • ภาษาราชการ: มาเลย์ (Bahasa Malaysia) อังกฤษ จีน ทมิฬ
  • ศาสนา: อิสลาม (ศาสนาประจำชาติ พุทธ คริสต์ ฮินดู อื่น ๆ)
  • สกุลเงิน: ริงกิตมาเลเซีย (Malaysian Ringgit : MYR)
  • ธงชาติ : ธงชาติมาเลเซีย มีแถบสีแดงสลับสีขาวรวม 14 แถบ แต่ละแถบมีความกว้างเท่ากัน ที่มุมธงด้านคันธงมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินกว้าง 8 ใน 14 ส่วนของผืนธงด้านกว้าง และยาวกึ่งหนึ่งของผืนธงด้านยาว ภายในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าดังกล่าว มีเครื่องหมายพระจันทร์เสี้ยว และดาว 14 แฉก ซึ่งสี และสัญลักษณ์ ต่าง ๆ มีความหมาย ดังนี้ แถบริ้วสีแดง และสีขาว ทั้ง 14 ริ้ว หมายถึง สถานะอันเสมอภาคของรัฐสมาชิกทั้ง 13 รัฐ ภายในประเทศมาเลเซีย ดาว 14 แฉก หมายถึง ความเป็นเอกภาพในหมู่รัฐดังกล่าวทั้งหมด พระจันทร์เสี้ยวหมายถึง ศาสนาอิสลามอันเป็นศาสนาประจำชาติ สีเหลืองในพระจันทร์เสี้ยว และดาว 14 แฉก สื่อถึง ผู้เป็นประมุขแห่งสหพันธรัฐ สีน้ำเงิน หมายถึง ความสามัคคีของชาวมาเลเซีย
ธงชาติประเทศมาเลเซีย
ธงชาติประเทศมาเลเซีย
  • ดอกไม้ประจำชาติ สำหรับประเทศมาเลเซียนั้น มีดอกไม้ประจำชาติเป็น ดอกพู่ระหง (Bunga Raya) ในภาษาท้องถิ่นเรียกกันว่า “บุหงารายอ” หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ดอกชบาสีแดง” ลักษณะกลีบดอกเป็นสีแดงมีเกสรยื่นยาวออกมาเหนือดอก ซึ่งถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศมาเลเซีย เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นและความอดทนในชาติ โดยเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้สูงส่งและสง่างาม รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์และความงามได้อีกด้วย
ดอกพู่ระหง
ดอกพู่ระหง
  • สัตว์ประจำชาติ : เสือโคร่งมาลายูเป็นสัตว์ตระกูลเสือโคร่งที่มีลักษณะเฉพาะ มีขนาดใหญ่และมีความแข็งแรงมาก พบมากทางภาคกลางของประเทศมาเลเซียและสามารถพบได้ในป่าดิบชื้นของประเทศเช่น เพนนิซูล่า กลันตัน ตรังกานู เประ ปะหัง และป่าตอนใต้สุดของไทยที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย นอกจากเสือโคร่งมลายูจะเป็นสัตว์ประจำชาติมาเลเซีย ยังปรากฏอยู่ในตราสัญลักษณ์ของประเทศ และเรานิยมเรียกคนมาเลย์และทีมกีฬาของมาเลเซียว่าทีมเสือเหลืองอีกด้วย ซึ่งคำว่าเสือเหลืองหมายถึงเสือโคร่งมลายูนั่นเอง
เสือโคร่ง
เสือโคร่ง
  • ชุดประจำชาติ : สำหรับชุดประจำชาติมาเลเซียของผู้ชาย เรียกว่า “บาจู มลายู (Baju Melayu)”ประกอบด้วยเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวที่ทำจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือโพลีเอสเตอร์ที่มีส่วนผสมของผ้าฝ้าย ส่วนชุดของผู้หญิงเรียกว่า “บาจูกุรุง (Baju Kurung)”ประกอบด้วยเสื้อคลุมแขนยาว และกระโปรงยาว
ชุด Baju Melayu
ชุด Baju Melayu

ที่มา:sites.google.com/site/karphathna10/home